ชาติมหาอำนาจแต่ละประเทศต้องการอะไรจากการประชุม "บริกส์" (BRICS) กันแน่ ?
แม้กระทั่งอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ก็เข้าร่วมด้วย ซึ่งทำให้ยูเครนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ในงานประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศบริกส์นี้ รัสเซียต้องการแสดงให้สหรัฐอเมริกา และยุโรปเห็นว่าพวกเขาไม่สามารถแยกรัสเซียออกไปได้
อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมต่างก็มีวาระของตนเอง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลรัสเซีย
ในรายงานนี้นักข่าวบีบีซีผู้เชี่ยวชาญประจำภูมิภาคต่าง ๆ ได้อธิบายว่า ชาติมหาอำนาจแต่ละฝ่ายต้องการบรรลุเป้าหมายใดในการประชุมครั้งนี้
ชัยชนะเชิงสัญลักษณ์ของปูติน
กริกอร์ อาทาเนเซียน ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษารัสเซียอธิบายว่า สำหรับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียแล้ว การประชุมสุดยอดครั้งนี้ถือเป็นโอกาสพิสูจน์ให้ทั้งโลกตะวันตกและประชาชนของเขาเห็นว่าเขาไม่ใช่ผู้นำที่ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก
และดูเหมือนว่าคณะนักการทูตและรัฐมนตรีจากกว่า 30 ประเทศในกลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South) ก็จะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ กลุ่มผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้จึงรวมถึงผู้นำจากจีน อินเดีย อิหร่าน ตุรกี แอฟริกาใต้ อียิปต์ และเอธิโอเปีย รวมถึงประเทศอื่น ๆ
แม้ว่าบางประเทศจะถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกเช่นเดียวกับรัสเซีย แต่หลายประเทศ เช่น ตุรกี ก็ยังเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ และสมาชิกนาโต การที่ผู้นำเหล่านี้เต็มใจเดินทางเยือนรัสเซียและจับมือกับปูติน หรือในกรณีของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียถึงขั้นสวมกอด สะท้อนให้เห็นว่าสำหรับกลุ่มประเทศโลกใต้ การรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นเพียงความขัดแย้งระดับภูมิภาค ไม่ใช่ภัยคุกคามต่อระเบียบโลกอย่างที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปส่วนใหญ่รับรู้
อย่างไรก็ตาม นอกจากการสร้างภาพลักษณ์เชิงสัญลักษณ์ให้กับเครมลินแล้ว ก็ยังไม่ชัดเจนว่าการประชุมบริกส์ครั้งนี้จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมใด ๆ แม้จะมีการกล่าวถึงแนวคิดการพัฒนาสกุลเงินทางเลือกและการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เว็บไซต์ของการประชุมก็เตือนผู้เข้าร่วมให้เตรียมเงินสดมาด้วย เนื่องจากบัตร Mastercard และ Visa ไม่สามารถใช้งานได้ในรัสเซีย และ “มีเพียงเงินสดสกุลดอลลาร์สหรัฐหรือยูโรเท่านั้นที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินรูเบิลได้อย่างเสรีในธนาคารส่วนใหญ่ในรัสเซีย”
จีนมองบริกส์เป็นเครื่องยนต์เพื่อการเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่
เฉิน หยาน ผู้สื่อข่าวบีบีซี แผนกภาษาจีน อธิบายว่า จากเหตุการณ์ล่าสุด ชาวรัสเซียเริ่มเข้าใจได้ไม่ยากว่าจีน แท้จริงแล้วจีนไม่ต้องการเข้าข้างรัสเซียอย่างเต็มตัว แม้จะดูใกล้ชิดกันก็ตาม โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ตัวอย่างเช่น จีนได้จำกัดการส่งออกสินค้าที่มีการใช้งานสองทาง (dual-use goods) ไปยังรัสเซียตามคำร้องขอซ้ำ ๆ จากสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าประเภทนี้สามารถนำไปใช้ในทางการทหารได้อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตะวันตก รัสเซียและจีนมักแสดงจุดยืนร่วมกัน และกลุ่มบริกส์ ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนคำถามสำคัญคือ จีนต้องการอะไรนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ระบบโลกที่อิงกับกฎระเบียบ (rules-based system) ได้พัฒนาขึ้นเพื่อรับรองสิทธิของประเทศเล็ก ๆ และสิทธิมนุษยชน แม้ว่าระบบนี้จะมีข้อบกพร่อง แต่ก็ยังถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา มาพร้อมกับความต้องการที่จะสร้างระเบียบโลกที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของตนเอง
แล้วจีนต้องการระเบียบโลกแบบใดพูดอย่างตรงไปตรงมา สี จิ้นผิง ต้องการระเบียบโลกที่เอื้อต่อผู้ปกครองแบบอำนาจนิยม โดยจีนไม่ได้มุ่งหวังให้ประเทศอื่นกลายเป็นแบบจีน แต่ต้องการสร้างระบบระหว่างประเทศที่ไม่แทรกแซงรัฐบาลอธิปไตยที่ไม่ได้มีมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน
กล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้น จีนให้ความสำคัญกับ ‘อธิปไตยเป็นอันดับแรก’ มากกว่า ‘สิทธิมนุษยชนเป็นอันดับแรก’ จีนจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างไร
แผนของจีนคือการรวบรวมประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องกันให้ได้มากที่สุด ด้วยพลังเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งและการไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน จีนจึงเป็นที่ดึงดูดสำหรับประเทศที่ไม่ชอบระบบระหว่างประเทศในแบบของสหรัฐฯ
กลุ่มบริกส์ได้กลายเป็นเวทีที่เอื้อให้จีนกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ และแนวโน้มดังกล่าวยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อมีการเพิ่มสมาชิกใหม่เข้าร่วม
รักเวนทรา เรา ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนภาษาฮินดีอธิบายว่า การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศบริกส์ ปีนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งจากมุมมองของอินเดีย เนื่องจากประเทศกำลังมีปฏิสัมพันธ์กับสองมหาอำนาจในกลุ่ม ได้แก่ จีนและรัสเซีย
เป็นครั้งแรกในรอบห้าปีที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีจัดการประชุมทวิภาคีกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากอินเดียประกาศว่าได้บรรลุข้อตกลงกับจีนเกี่ยวกับการลาดตระเวนบริเวณเส้นควบคุมตามจริง (Line of Actual Control) ซึ่งเป็นเขตแดนพิพาทยาว 2,100 ไมล์ (ราว 3,380 กิโลเมตร) ในเทือกเขาหิมาลัยที่คลุมเครือ ซึ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศมาตั้งแต่ปี 2020
อินเดียหวังว่าจะยุติความตึงเครียดบริเวณชายแดนผ่านการพบปะกับสี จิ้นผิง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ อินเดียยังมุ่งหมายที่จะแสดงบทบาทของตนในฐานะผู้สร้างสันติภาพในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน หลังจากเดินทางถึงเมืองคาซาน นายกรัฐมนตรีโมดีบอกกับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียว่า อินเดียพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในการแก้ไขความขัดแย้ง
การที่โมดีได้สนทนากับทั้งประธานาธิบดีปูตินและประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน และเสนอความช่วยเหลือ บ่งชี้ว่าอินเดียกำลังพยายามเล่นบทบาทที่ใหญ่ขึ้นและมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการลดความตึงเครียดในวิกฤตครั้งนี้
ในขณะเดียวกันที่อินเดียสนับสนุนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจในกลุ่มบริกส์ อินเดียก็กำลังพยายามวางตัวเองให้เป็นผู้นำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
อินเดียยังคงยืนยันความเป็นอิสระทางการทูต โดยมีปฏิสัมพันธ์ทั้งกับรัสเซียและชาติตะวันตกโดยไม่ผูกมัดตนเองเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป
ตุรกี: BRICS เป็นส่วนเสริมของสหภาพยุโรป ไม่ใช่การแทนที่
เอมเร เตเมล ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาตุรกีอธิบายว่า ตุรกี ซึ่งได้ยื่นขอเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งคณะผู้แทนขนาดใหญ่ นำโดยประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับตุรกี เนื่องจากอังการามองการเข้าร่วมบริกส์ เป็นอีกทางเลือกท่ามกลางความชะงักงันในการเจรจาเข้าร่วมสหภาพยุโรป (EU)
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย และประธานาธิบดีแอร์โดอัน จะหารือกันเกี่ยวกับความพยายามของตุรกีที่จะเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ ในการประชุมทวิภาคีระหว่างการประชุมสุดยอดที่คาซาน
ในฐานะก้าวแรกสู่การเป็นสมาชิกบริกส์ อาจมีการเสนอ “สถานะหุ้นส่วน” (partner status) ให้แก่ตุรกี ประธานาธิบดีแอร์โดอันคาดว่าจะยืนยันถึงความมุ่งมั่นของตุรกีในการร่วมมือกับกลุ่มบริกส์ โดยระบุว่า รัฐบาลตุรกีต้องการเจรจาอย่างใกล้ชิดกับมหาอำนาจเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตในตะวันออก เพื่อกระจายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ตุรกียังเน้นย้ำว่า ความร่วมมือกับบริกส์เป็นส่วนเสริม ไม่ใช่ทางเลือกแทน ข้อตกลงสหภาพศุลกากร (customs union) กับสหภาพยุโรป ตุรกีดำเนินนโยบายตามผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเอง โดยการเข้าร่วมองค์กรระหว่างประเทศที่หลากหลาย
เข้าทางอิหร่าน
ไควาน ฮอสเซนี ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาเปอร์เซียอธิบายว่า อิหร่านปรารถนาทุกสิ่งเกี่ยวกับบริกส์อย่างยิ่ง ทั้งกลุ่มพันธมิตรยุทธศาสตร์ที่มีสองมหาอำนาจนิวเคลียร์นอกโลกตะวันตกเป็นผู้นำ และการมุ่งท้าทายระเบียบโลกที่ถูกครอบงำโดยตะวันตก ทั้งหมดล้วนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของผู้นำสูงสุดของอิหร่านโดยตรง
อันที่จริง อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีอำนาจครอบงำโลกของสหรัฐฯ ผ่านการใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นแกนหลักของระบบการเงินโลก ตั้งแต่ก่อนที่บริกส์จะถือกำเนิดขึ้น
นับตั้งแต่เริ่มต้นการปกครองของสาธารณรัฐอิสลาม อิหร่านต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรอย่างหนัก การอายัดทรัพย์สิน และแรงกดดันทางเศรษฐกิจหลายรูปแบบจากสหรัฐฯ และบางส่วนจากพันธมิตรยุโรป
ด้วยบทบาทสำคัญของดอลลาร์สหรัฐในระบบการเงินโลก สหรัฐฯ ได้สร้างกำแพงการเงินเสมือนจริงรอบอิหร่าน ทำให้การทำธุรกรรมใด ๆ เป็นไปได้ยาก
แม้ว่าบริกส์จะยังไม่สามารถปรับโครงสร้างตลาดโลกหรือปลดปล่อยการค้าเสรีจากการควบคุมของตะวันตกได้ แต่การที่ประธานาธิบดีอิหร่านนั่งร่วมโต๊ะประชุมถือเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของอุดมการณ์ต่อต้านตะวันตกของรัฐบาลอิหร่าน
บราซิล: ขยายขอบเขตอิทธิพล
จูเลีย บราวน์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาบราซิลวิเคราะห์ว่า บราซิลเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งกลุ่มบริกส์และปัจจุบันเป็นสมาชิกเพียงประเทศเดียวจากละตินอเมริกา แม้ว่าอาร์เจนตินาจะวางแผนเข้าร่วมในปี 2024 แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจไม่เข้าร่วม
บราซิลมองความสำคัญบางประเด็นมาตั้งแต่การก่อตั้งบริกส์ เช่น การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ประธานาธิบดีลูอีซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา เข้ารับตำแหน่งสมัยที่สาม รัฐบาลได้เพิ่มหัวข้ออื่น ๆ ในแผนเพื่อขยายขอบเขตอิทธิพลของบราซิลในเวทีโลก
การเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศโลกใต้เป็นเป้าหมายที่ลูลาให้ความสำคัญมาโดยตลอด และรัฐบาลของเขาดูเหมือนจะวางเดิมพันสำคัญกับกลุ่มบริกส์ และธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ของกลุ่ม เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
สำหรับจุดเน้นหลักของบราซิล ได้แก่ การลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ การเป็นผู้นำในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในความขัดแย้งระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2024 บราซิลเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่เมืองคาซานด้วยจุดมุ่งหมายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเน้นการกำหนดเกณฑ์พื้นฐานสำหรับการรับสมาชิกใหม่เข้าสู่กลุ่ม
รัฐบาลบราซิลผลักดันให้มีการเป็นตัวแทนเชิงภูมิศาสตร์ที่สมดุลยิ่งขึ้นสำหรับสมาชิกใหม่ และเน้นย้ำความสำคัญของการมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับสมาชิกดั้งเดิมของกลุ่มบริกส์
สิ่งนี้มีความสำคัญเนื่องจากบราซิลได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าตั้งใจที่จะยับยั้งการเสนอชื่อเวเนซุเอลาและนิการากัวเป็นสมาชิกสมทบ แม้ในอดีตจะเคยเป็นพันธมิตรของลูลา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบราซิลกับทั้งสองประเทศในอเมริกาใต้กลับเย็นลงในช่วงที่ผ่านมา
แอฟริกา: โอกาสในการเข้าร่วมกลุ่ม 'วีไอพี' ใหม่ของโลก
บรูโน การ์เซซ บรรณาธิการสื่อสังคมออนไลน์ของบีบีซีนิวส์แอฟริกาวิเคราะห์ว่า แอฟริกามีตัวแทนในกลุ่มบริกส์ จำนวนสามประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ ซึ่งเข้าร่วมในปี 2010 และอียิปต์กับเอธิโอเปีย ซึ่งเข้าร่วมในปี 2024
ในปี 2010 เมื่อแอฟริกาใต้เข้าร่วมกลุ่มบริกส์ เป็นครั้งแรก นับเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับทวีปแอฟริกา แม้ว่าเศรษฐกิจ ประชากร และขนาดของประเทศจะเล็กกว่าสมาชิกอื่น ๆ ในขณะนั้น แต่การเข้าร่วมครั้งนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์สำคัญ การเข้าร่วมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ถูกมองว่าเป็น "ของขวัญคริสต์มาส" สำหรับประเทศที่สามารถเอาชนะการแบ่งแยกสีผิวได้
แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่แอฟริกาใต้ก็มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดในทวีปนี้ เข้าถึงทรัพยากรแร่ธาตุ และมีประวัติศาสตร์อันโดดเด่นในการต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติและอิทธิพลจากยุคล่าอาณานิคม
ในทางกลับกัน แอฟริกาใต้ได้รับการลงทุนขนาดใหญ่จากจีนในหลายภาคส่วน ตั้งแต่ธุรกิจธนาคารไปจนถึงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และสามารถสร้างบทบาทสำคัญในเวทีโลก
อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้น มีเสียงวิจารณ์ว่า ควรให้ไนจีเรียเข้าร่วมแทน เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า คำถามนี้อาจได้รับคำตอบเมื่อกลุ่มบริกส์ขยายตัวต่อไป
ในปีที่ผ่านมา แอฟริกาได้เพิ่มสมาชิกใหม่อีกสองประเทศ ได้แก่ อียิปต์และเอธิโอเปีย นายกรัฐมนตรีอาบีย์ อาเหม็ดของเอธิโอเปียยกย่องการเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ว่าเป็นโอกาสที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของ “ระเบียบโลกที่ครอบคลุมและเจริญรุ่งเรือง”
คำกล่าวนี้สะท้อนถึงการยอมรับสถานะที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มและสมาชิก ในขณะเดียวกันก็สื่อถึงการเสียดสีต่อชาติตะวันตก ซึ่งอาจไม่ได้ถูกมองว่าครอบคลุมต่อประเทศในแอฟริกาหรือนำพาความเจริญเหมือนในอดีต
อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมของอียิปต์และเอธิโอเปียยังนำมาซึ่งความขัดแย้งภายใน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีข้อพิพาทเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อนของเอธิโอเปียในแม่น้ำไนล์ และได้สร้างพันธมิตรภายในแอฟริกาที่ต่างฝ่ายมองว่าเป็นศัตรูกัน
แม้จะมีความแตกแยกภายใน แต่การเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ยังคงเป็นที่ภาคภูมิใจของประเทศในแอฟริกาและประเทศอื่น ๆ สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หรือประเทศที่ประสบปัญหา การเป็นสมาชิกบริกส์เปิดโอกาสในการกระตุ้นการค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเพิ่มบทบาทบนเวทีโลกในช่วงเวลาที่ระเบียบโลกตะวันตกกำลังถูกท้าทาย
ที่มา : https://www.bbc.com/thai/articles/cx2lydzv4reo
Powered by Froala Editor