บทความ

บทความของไดนามิค เปย์เม้นท์

เจาะลึก "โอกาสและความท้าทาย" เปิดตำราวางแผนปีงูใหญ่ "เศรษฐกิจไทย" ปี 2567

เปิดทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2567

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจปีมะโรงงูใหญ่ 2567 นี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทย น่าจะมีการขยายตัวราว 3.0–3.5% ภาวะเงินเฟ้อ 1.0–2.0% อัตราดอกเบี้ยราว 2–2.5% และค่าเงินบาทน่าจะอยู่ราว 33–35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยในการมองภาพเศรษฐกิจไปข้างหน้านั้น จะมองจากปัจจัยทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ และเศรษฐกิจในประเทศของเรา ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างมากถึง 72% ปัจจัยภายนอกประเทศจึงมีบทบาทสำคัญ โดยมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาใน 4 เรื่องด้วยกัน

ประการแรก คือ ทิศทางเศรษฐกิจ การเงิน และตลาดเงินโลก ซึ่งตามที่เล่าไปแล้วว่า เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึง 5.5% ทำให้สามารถควบคุมเงินเฟ้อจากที่เคยสูงถึง 9.1% ลงมาเหลือต่ำกว่า

3.0% แม้ตามปกติอัตราเงินเฟ้อที่ทางเฟดดูแลจะไม่ให้เกิน 2.0% แต่เชื่อว่า เฟดมองสัญญาณเศรษฐกิจของปี 2567 ไว้ค่อนข้างจะดี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยคงจะไม่ปรับขึ้นอีก แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายจะปรับ

ลดลงอย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้

บรรยากาศการลงทุนทางธุรกิจต่างๆเริ่มดีขึ้น ขณะที่ประเทศจีนก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคต่างๆออกมาหลายมาตรการ ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น แม้ยังต่ำกว่าเป้าหมาย แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5% อีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก การเติบโตของอินเดียในปีนี้ขยายตัวประมาณ 6.5% ซึ่งสูงสุดของโลก และน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างดีทีเดียว

ขณะที่ในยุโรป ก็ดูเหมือนว่ามาตรการต่างๆในการดูแลเงินเฟ้อ น่าจะช่วยให้อยู่ในกรอบที่จะควบคุมได้แล้ว เพราะฉะนั้น การที่อเมริกามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกและเริ่มดีขึ้นน่าจะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจโลกในปี 2567 อย่างมาก แต่การฟื้นตัวนี้อาจจะต้องใช้เวลา การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2567 จึงอาจจะขยายตัวประมาณ 2.7-3.0% ซึ่งเริ่มดีขึ้นแต่ยังไม่มากเท่าที่คาดไว้ แต่ก็ดีพอที่จะมีผลดีต่อการส่งออกของไทยในปีนี้

ประการที่สอง มีปัจจัยเสริมในเชิงเศรษฐกิจโลกคือ มีการเลือกตั้งในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ยูเครน อินโดนีเซีย อินเดีย อังกฤษ แอฟริกาใต้ และอีกราว 40 ประเทศก็มีการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน ปัจจัยเหล่านี้ในเชิงการเมืองน่าจะมีผลทำให้บรรยากาศระหว่างประเทศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์น่าจะลดความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านๆมา การเลือกตั้งมักจะมุ่งเน้นปัญหาภายในประเทศตนเองเป็นหลัก บรรยากาศความขัดแย้งระหว่างประเทศจะบรรเทาลง

ประการที่สาม การท่องเที่ยวจากต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ จากที่รัฐบาลไทยได้มีข้อตกลงเรื่องฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนที่มาเมืองไทย จะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคน และทำให้จำนวนรวมนักท่องเที่ยวทั้งปีเป็น 35 ล้านคน ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องเกิดการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว

และสุดท้าย ประการที่สี่ การลงทุนจากต่างประเทศในไทยดีขึ้น เนื่องจากการมีรัฐบาลใหม่ นโยบายใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นายกรัฐมนตรีไปเยือนต่างประเทศและเชิญชวนนักลงทุน ก็จะมีผลทำให้บรรยากาศการลงทุนจากต่างประเทศดีขึ้น

8 โอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ท้ายที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้ตามคาดการณ์ หรือดีกว่าที่คาดการณ์ รวมทั้งช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างเพื่อยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว อาจารย์มนตรี ได้ฝาก 8 แนวทางไว้ เพื่อเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้

แนวทางที่ 1 คือ การเจรจา FTA โดยเฉพาะการเจรจา FTA ไทยกับจีน ซึ่งมีการปรับเพิ่มประเด็นต่างๆมากขึ้น หลังจากที่ทำไว้เมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นโอกาสที่จะให้เกิดความร่วมมือทางการค้ามากขึ้น และที่สำคัญก็คือ FTA ระหว่างไทยกับ EU ซึ่งประเทศ EU นี้มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้ง FTA ระหว่างไทยกับอังกฤษต้องเร่งรัด ซึ่งจะช่วยการส่งออกให้ดีขึ้น

แนวทางที่ 2 การเร่งสร้างบรรยากาศในการลงทุนดึงเงินทุนจากต่างประเทศ โดยมีแนวนโยบายที่ชัดเจนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศได้ตัดสินใจในการเข้ามาลงทุนในเมืองไทยได้ง่ายและเร็วขึ้น คงต้องมีแผนพอสมควร

แนวทางที่ 3 เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มีฝีมือ โดยการพัฒนาทางการศึกษาและพัฒนาฝีมือแรงงาน

แนวทางที่ 4 การเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งงบลงทุนประมาณปีละ 350,000 ล้านบาท ให้เป็นรูปธรรมและตอบโจทย์เศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

แนวทางที่ 5 เร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะยาว และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐ

แนวทางที่ 6 มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าเข้ามาช่วยเสริม เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ มาตรการการลดหย่อนภาษีในการจับจ่ายใช้สอยในช่วง ม.ค.-ก.พ.ปีนี้ และมาตรการอื่นๆในการกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือน

แนวทางที่ 7 นโยบายรัฐบาลโดยรวมมีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ต่างประเทศมาลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มจะปรับลดลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการลงทุนของภาคเอกชน

และ แนวทางที่ 8 คือ หากจะให้ดีกว่านั้น อัตราดอกเบี้ยควรมีการปรับลดลง ซึ่งช่วยบรรเทาภาระหนี้ของภาคครัวเรือน.



ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/analysis/2753263

Powered by Froala Editor

Powered by Froala Editor

Share: