ข่าวสาร

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024: “ทรัมป์” ชนะ จะเกิดอะไรขึ้นกับยูเครน-ตะวันออกกลาง-จีน?

ท่ามกลางสงครามและความขัดแย้งที่แพร่กระจายอยู่ในหลายมุมโลก การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งนั้น คาดว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ในหลายด้านระหว่างการหาเสียง ทรัมป์ได้ให้คำมั่นสัญญาในนโยบายต่างประเทศมากมาย แต่มักขาดรายละเอียดที่ชัดเจน เพียงบอกว่าอิงตามหลักการไม่แทรกแซงและการคุ้มครองการค้า หรืออย่างที่เขาพูดว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) เรามาดูแนวทางที่เป็นไปได้ของทรัมป์กันว่า เขาจะลงมือเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศท่ามกลางความขัดแย้งอย่างไร

รัสเซีย ยูเครน และนาโต

ระหว่างการหาเสียง ทรัมป์กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า เขาสามารถยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ “ในวันเดียว” เมื่อถูกถามว่าทำได้อย่างไร ทรัมป์บอกว่าจะเป็นเรื่องของการเจรจาข้อตกลง แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียด เอกสารวิจัยที่เขียนโดยอดีตหัวหน้าความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ 2 คนในเดือน พ.ค. ระบุว่า สหรัฐฯ ควรส่งอาวุธให้ยูเครนต่อไป แต่การสนับสนุนจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า ยูเครนจะต้องเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย ขณะที่เพื่อดึงดูดใจรัสเซีย ชาติตะวันตกสัญญาว่า จะชะลอการเข้าร่วมนาโตของยูเครน แนวทางดังกล่าวทำให้พรรคเดโมแครตกล่าวหาทรัมป์ซึ่งสนิทสนมกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ว่า เท่ากับเป็นการทำให้ยูเครนต้องยอมจำนน อันจะก่อให้เกิดอันตรายต่อยุโรปทั้งหมด ทรัมป์พูดอยู่เสมอว่า ลำดับความสำคัญของเขาคือการยุติสงครามและหยุดยั้งการสูญเสียทรัพยากรของสหรัฐฯไม่ชัดเจนว่าเอกสารของอดีตที่ปรึกษาแสดงถึงความคิดของทรัมป์เองได้ไกลแค่ไหน แต่มีแนวโน้มว่าจะเป็นแนวทางให้เราทราบว่าเขาจะใช้นโยบายแบบใด แนวทางอเมริกาต้องมาก่อนของเขายังขยายไปถึงประเด็นยุทธศาสตร์ในอนาคตของนาโตด้วย ปัจจุบัน นาโตมีสมาชิกทั้งหมด 32 ประเทศ และทรัมป์ก็แสดงท่าทีไม่เชื่อมั่นในกลุ่มพันธมิตรนี้มาแต่ไหนแต่ไร โดยกล่าวหาว่ายุโรปอาศัยคำมั่นสัญญาของอเมริกาในการปกป้องประเทศโดยเสรี ส่วนเรื่องที่ว่าเขาจะนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากนาโต ซึ่งจะเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในรอบเกือบศตวรรษ หรือไม่นั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่พันธมิตรบางคนของเขาแนะนำว่าแนวทางที่แข็งกร้าวของเขาเป็นเพียงกลวิธีในการเจรจาเพื่อให้สมาชิกปฏิบัติตามแนวทางการใช้จ่ายด้านการป้องกันของพันธมิตร

ตะวันออกกลาง

เช่นเดียวกับยูเครน ทรัมป์ได้สัญญาว่าจะนำสันติภาพมาสู่ตะวันออกกลาง หรือก็คือจะยุติสงครามอิสราเอล-ฮามาสในฉนวนกาซาและสงครามอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน แต่ไม่ได้ระบุว่าจะยุติอย่างไร ทรัมป์กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า หากเขาอยู่ในอำนาจแทน โจ ไบเดน ฮามาสจะไม่โจมตีอิสราเอลเพราะเขามีนโยบายกดดันอิหร่านระดับสูงสุด ทำให้ให้การสนับสนุนกหลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ไม่ได้ ดังนั้น ทรัมป์น่าจะพยายามกลับไปใช้นโยบายเดิม ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลสมัยแรกของเขาได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และสังหารพลเอกกาเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการทหารที่ทรงอำนาจที่สุดของอิหร่าน ทรัมป์เคยดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับอิสราเอลอย่างแข็งขัน โดยย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากเทลอาวีฟไปที่เยรูซาเล็ม ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ฐานเสียงกลุ่มคริสเตียนของทรัมป์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลักของพรรครีพับลิกันมีความกระตือรือร้นมากขึ้น นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู เคยเรียกทรัมป์ว่า “เพื่อนที่ดีที่สุดที่อิสราเอลเคยมีในทำเนียบขาว” นโยบายของทรัมป์ทำให้ชาวปาเลสไตน์ถูกกีดกั้นออกไปอีกขึ้น โดยเฉพาะเมื่อทรัมป์เป็นตัวกลางในการจัดทำ “ข้อตกลงอับราฮัม” ซึ่งเป็นข้อตกลงในการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตปกติระหว่างอิสราเอลกับประเทศอาหรับและมุสลิมหลายประเทศ โดยหนึ่งในเงื่อนไขที่น่าสนใจคือ อิสราเอลไม่ต้องยอมรับรัฐปาเลสไตน์อิสระในอนาคตควบคู่ไปด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้มันเป็นเงื่อนไขที่ประเทศอาหรับต้องการบรรลุในข้อตกลงระดับภูมิภาคดังกล่าว ทรัมป์ได้ออกแถลงการณ์หลายครั้งระหว่างการหาเสียงโดยระบุว่าเขาต้องการให้สงครามกาซายุติลง เขาเคยมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและบางครั้งก็ไม่ราบรื่นกับเนทันยาฮู แต่เขาก็มีความสามารถที่จะกดดันเนทันยาฮูได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ทรัมป์ยังมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับผู้นำในประเทศอาหรับสำคัญ ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับฮามาสด้วย

จีนและการค้า

แนวทางของอเมริกาต่อจีนถือเป็นนโยบายต่างประเทศที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์มากที่สุด และมีผลกระทบต่อความมั่นคงและการค้าระดับโลกมากที่สุด เมื่อดำรงตำแหน่งสมัยแรก ทรัมป์เรียกจีนว่าเป็น “คู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์” และกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางรายการที่นำเข้าไปยังสหรัฐฯ ซึ่งทำให้จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯมีการพยายามลดระดับความขัดแย้งทางการค้า แต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงเมื่ออดีตประธานาธิบดีเรียกโควิด-19 ว่าเป็น “ไวรัสจีน” แม้ว่ารัฐบาลของไบเดนจะอ้างว่าใช้แนวทางที่ปรับเปลี่ยนมากขึ้นต่อจีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลไบเดนกลับยังคงใช้มาตรการภาษีสินค้านำเข้าหลายอย่างตั้งแต่ยุคทรัมป์อยู่ ทรัมป์ยกย่องประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ว่าเป็นทั้ง “อัจฉริยะ” และ “อันตราย” และเป็นผู้นำที่ทรงประสิทธิภาพซึ่งควบคุมประชากร 1.4 พันล้านคนด้วย “กำปั้นเหล็ก” ดูเหมือนว่ามีแนวโน้มที่ทรัมป์จะเปลี่ยนแนวทางจากเดิมของรัฐบาลไบเดนในการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงที่แข็งแกร่งขึ้นกับประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อพยายามปิดกั้นจีน สหรัฐฯ ยังคงให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ไต้หวัน ซึ่งจีนมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน โดยเมื่อเดือน ต.ค. ทรัมป์กล่าวว่า หากเขากลับเข้าไปในทำเนียบขาว เขาจะไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารเพื่อป้องกันไม่ให้จีนปิดล้อมไต้หวัน เนื่องจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง รู้ดีว่าตนเป็น “คนบ้า” และหากสิ่งนั้นเกิดขึ้น เขาจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราที่สูงจนเป็นอัมพาต


ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/236147

Powered by Froala Editor

Powered by Froala Editor

Powered by Froala Editor

Share: